วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

3. ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง


จักรกฤษณ์ สำราญใจ   http://netra.lpru.ac.th/~phaitoon/RESEARCH/%C7%D4%A8%D1%C2%A1%D2%C3%C8%D6%A1%C9%D2/doc.htm   วรรณกรรมหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง  (related literature) หมายถึง  เอกสารงานเขียนที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับหัวข้อปัญหาที่ผู้วิจัยสนใจ  วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอาจมีหลายลักษณะ เช่น เป็นตำรา สารานุกรม  พจนานุกรม นามานุกรม ดัชนี รายงานสถิติ หนังสือรายปี บทความในวารสาร จุลสาร  ที่สำคัญก็คือรายงานผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น  ผู้วิจัยจะต้องทำการสำรวจอ่านทบทวนอย่างพินิจพิเคราะห์  ทักษะที่สำคัญของการทำวิจัยในขั้นตอนนี้คือ ทักษะในการสืบค้นหาสารนิเทศจากแหล่งต่าง ๆ และทักษะในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
ความสำคัญของการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อ
1.     ช่วยให้ผู้วิจัยได้ทราบถึงสถาพขององค์ความรู้ (state of the art) ในเรื่องที่จะทำการวิจัย  คือจะได้ทราบว่าในหัวข้อเรื่องที่ผู้วิจัยสนใจหรือมีข้อสงสัยใคร่หาคำตอบนั้น ได้มีผู้ศึกษาหาคำตอบได้เป็นความรู้ไว้แล้วในแง่มุมหรือประเด็นใดแล้วบ้าง  การจะศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบในเรื่องนั้นต่อไปควรจะได้ทราบเสียก่อนว่าเรารู้อะไรกันแล้วบ้างเกี่ยวกับเรื่องนั้น ความรู้เหล่านั้นมีความชัดเจนเพียงใด  ยังมีข้อความรู้ที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกันบ้างหรือไม่  ประเด็นใดที่ยังไม่มีคำตอบบ้าง  การทราบถึงสถานภาพขององค์ความรู้ในเรื่องที่จะทำวิจัยจะช่วยให้ผู้วิจัยมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความรู้ใหม่ที่จะได้จากการวิจัยของตนเองนั้นจะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วในเรื่องนั้น จะเป็นความรู้ใหม่ที่มีคุณค่าหรือความสำคัญเพียงใด และจะเข้าไปจัดระเบียบอยู่ในองค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างผสมกลมกลืนได้อย่างไร
2.     ช่วยให้ผู้วิจัยสามารถหลีกเลี่ยงการทำวิจัยซ้ำซ้อนกับผู้อื่น  การวิจัยเป็นเรื่องของการแสวงหาความรู้ใหม่  นักวิจัยไม่นิยมแสงหาความรู้เพื่อที่จะตอบปัญหาเดิมโดยไม่จำเป็น เพราะจะเป็นการเสียเวลา สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ  สิ่งใดที่รู้แล้วมีผู้หาคำตอบไว้แล้ว นักวิจัยจะไม่ทำวิจัยเพื่อหาคำตอบในเรื่องนั้นซ้ำอีก  ดังนั้นนักวิจัยจึงพยายามหลีกเลี่ยงการทำวิจัยซ้ำกับที่ผู้อื่นได้ทำไว้แล้วซึ่งถือเป็นจรรยาบรรณอย่างหนึ่งของนักวิจัย และทำให้การวิจัยนั้นด้อยคุณค่าลง การทบทวนเอกสารวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างถี่ถ้วนและรอบคอบจะทำให้นักวิจัยได้ทราบว่าประเด็นที่ตนเองสนใจจะทำวิจัยนั้นได้มีผู้หาคำตอบไว้แล้วหรือยัง  ถ้ามีแล้วก็จะได้เลี่ยงไปศึกษาในประเด็นอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้มีผู้ศึกษาเอาไว้ต่อไป
3.     ช่วยให้ผู้วิจัยได้มีแนวคิดพื้นฐานเชิงทฤษฎีในเรื่องที่จะทำการวิจัยอย่างเพียงพอ การจะทำวิจัยในเรื่องใดนั้นผู้วิจัยจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่พอสมควร โดยเฉพาะกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎี (Theritical หรือConceptual framwork) เกี่ยวกับเรื่องนั้นจะต้องชัดเจน  สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้วิจัยกำหนดประเด็นปัญหาในการวิจัยได้อย่างชัดเจน  สามารถกำหนดแนวทางในการศึกษาได้อย่างเหมาะสม เข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องที่วิจัยได้อย่างแจ่มแจ้ง
4.     ช่วยให้ผู้วิจัยได้เห็นแนวทางในการดำเนินงานวิจัยของตน  จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่ทำให้นักวิจัยได้ทราบว่าเรื่องที่สนใจนั้นได้มีผู้วิจัยอื่นได้ค้นคว้าหาคำตอบไว้อย่างไรแล้วเท่านั้น ยังจะได้ทราบด้วยว่านักวิจัยคนอื่น ๆ เหล่านั้นได้มีวิธีการหาคำตอบเอาไว้อย่างไร  มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรในการทำวิจัยในเรื่องนั้น  คำตอบที่ได้มามีความชัดเจนแจ่มแจ้งเพียงใด  คำตอบสอดคล้องหรือขัดแยังกันหรือไม่  เอกสารเชิงทฤษฎีต่าง ๆ ได้ชี้แนะแนวทางในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างไร  สารสนเทศเหล่านี้นักวิจัยจะนำมาใช้ตัดสินใจกำหนดแนวทางในการวิจัยของตนเริ่มตั้งแต่ การกำหนดประเด็นปัญหาที่เหมาะสม การกำหนดขอบเขตและข้อสันนิษฐานการวิจัยอย่างสมเหตุสมผล ออกแบบวิจัยเพื่อดำเนินการหาคำตอบซึ่งจะเกี่ยวกับการเลือกระเบียบวิธีวิจัย การเลือกตัวอย่าง การสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์หรือประมวลผลข้อมูล ตลอดจนการสรุปและรายงานผลการวิจัย   นักวิจัยจะวางแผนการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาอุปสรรคที่จะทำให้งานวิจัยนั้นล้มเหลวได้  ช่วยให้โอกาสที่จะทำงานมีวิจัยนั้นให้สำเร็จอย่างมีคุณภาพมีสูงขึ้น
5.     ช่วยให้ผู้วิจัยได้มีหลักฐานอ้างอิงเพื่อสนับสนุนในการอภิปรายผลการวิจัย  เมื่อผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยจนได้ข้อสรุปหรือคำตอบให้กับปัญหาแล้ว  ในการรายงานผลการวิจัยผู้วิจัยจะต้องแสดงความคิดเห็นเขิงวิพากษ์วิจารณ์ผลการวิจัย  การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบถี่ถ้วนจะช่วยให้ผู้วิจัยมีข้อมูลอ้างอิงประกอบการแสดงความเห็นได้อย่างสมเหตุสมผลและมีความหนักแน่นน่าเชื่อถือ
6.     ช่วยสร้างคุณภาพและมาตรฐานเชิงวิชาการให้แก่งานวิจัยนั้น  การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนั้นจะต้องประมวลมาเป็นรายงานสรุปใส่ไว้ในรายงานการวิจัย หรือเค้าโครงร่างของการวิจัย(Research proposal)ด้วย  การไปทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องมาอย่างกว้างขวางครอบคลุมในเรื่องที่ศึกษาและนำมาเรียบเรียงเอาไว้อย่างดี จะทำให้รายงานหรือโครงร่างการวิจัยนั้นมีคุณภาพและได้มาตรฐาน  เป็นการแสดงถึงศักยภาพของนักวิจัยได้ทางหนึ่งว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะทำวิจัยในเรื่องนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ  ในการพิจารณาโครงร่างการวิจัยส่วนหนึ่งที่กรรมการมักจะพิจารณาเป็นพิเศษก็คือ รายงานการประมวลเอกสารที่เกี่ยวข้องนี่เอง
ภัทรา  นิคมานนท์ (2548 : 72)  ให้ความหมายของ การประมวลเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ว่า เป็นการศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัยที่ผู้วิจัยต้องการทำในแง่มุมต่างๆ เพื่อหาประเด็นของเรื่องที่จะทำวิจัยว่า มีความหมายอย่างไร  มีองค์ประกอบใดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ผู้วิจัยจะทำบ้าง  มีทฤษฎีอะไรบ้างที่กล่าวถึงเรื่องของปัญหาการวิจัยนั้น  ปัญหาการวิจัยนั้นผู้วิจัยควรศึกษาในขอบข่ายที่กว้างขวางเพียงไร  และควรศึกษาในแง่มุมใดจึงจะน่าสนใจ  มีใครทำวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ผู้วิจัยสนใจจะทำอยู่แล้วบ้าง  งานวิจัยนั้นศึกษากับกลุ่มตัวอย่างใด  มีวิธีการศึกษาอย่างไร  ผลการวิจัยเป็นอย่างไร       ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการกำหนดแบบแผนของการวิจัยที่ผู้วิจัยจะทำต่อไปได้
สุชาติ  ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (2544 : 51)  กล่าวว่า การประมวลเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หมายถึง  การค้นคว้าศึกษารวบรวมและประมวลผลงานทางวิชาการ  เช่น  ผลงานวิจัย  บทความเอกสารทางวิชาการ  และตำราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหรือประเด็นที่ทำการวิจัยเพื่อประเมินประเด็น  แนวความคิด  ระเบียบวิธีการวิจัย  ข้อสรุป  ข้อเสนอแนะจากผลงานวิจัยหรือเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อหรือประเด็นของปัญหาของการวิจัยก่อนที่จะลงมือทำการวิจัยของตนเองและในบางครั้งอาจมีการทบทวนเพิ่มเติมหลังจากที่ได้ลงมือทำไปบ้างแล้ว

สรุป
ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง  คือ  ผลงานวิชาการที่มีการจัดทำ หรือจัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปสิ่งพิมพ์ (printed materials) หรือ การบันทึกในรูปเอกสารอีเล็คทรอนิกส์ ตัวอย่างของเอกสารได้แก่  หนังสือ  ตำรา จุลสาร  บทความทางวิชาการ  สารานุกรม  วารสาร  เอกสารสิ่งพิมพ์ของทางราชการ  จดหมายเหตุ      คู่มือ  รายงานประจำปี  บทปริทัศน์ และบทสรุปส่วนตัว   ในส่วนของงานวิจัย ได้แก่ วิทยานิพนธ์  รายงานการวิจัย  บทคัดย่องานวิจัย  และรายงานการสังเคราะห์งานวิจัย

ที่มา
ภัทรา นิคมานนท์. (2548). การประเมินผลการเรียน. กรุงเทพมหานคร: ทิพยวิสุทธิ์.
สุชาติ  ประสิทธิ์รัฐสินธ์.  (2544).  ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เฟื่องฟ้า
พริ้นติ้ง.
จักรกฤษณ์ สำราญใจ. การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง. http://netra.lpru.ac.th/~phaitoon/RESEARCH/%C7
            %D4%A8%D1%C2%A1%D2%C3%C8%D6%A1%C9%D2/doc.htm.  เข้าถึงเมื่อ 25 ธันวาคม 2555



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น