วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

22. ภาคผนวก


พิชิต ฤทธิ์จรูญ (2544 : 392) ได้กล่าวว่าภาคผนวกเป็นรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่ต้องนำเสนอยืนยันเพื่อแสดงถึงการดำเนินการวิจัยอย่างเป็นระบบ และเพิ่มความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัยอีกทั้งจะเป็นการช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจรายงานการวิจัยได้ดียิ่งขึ้น และได้เห็นแบบอย่างหรือแนวทางการดำเนินงานในบางประการ ภาคผนวกมีหลายลักษณะซึ่งอาจนำเสนอแยกเป็นหมวดหมู่เป็นภาคผนวก ก ภาคผนวก ข ภาคผนวก ค ฯลฯ และอาจเรียงลำดับตามขั้นตอนของกระบวนการวิจัย

                พรศรี ศรีอัษฎาพรและ  ยุวดี วัฒนานนท์ (2529 : 161) ได้กล่าวว่าภาคผนวกอาจมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีสิ่งใดที่มีความสำคัญ และไม่ต้องการให้สื่อความหมายหรือความเข้าใจไปพร้อมกับการอ่านรายงาน ให้นำไปใส่ไว้ในภาคผนวก เช่น แบบสอมถาม แบบสัมภาษณ์ แบบฟอร์มการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือตารางบางตาราง

                เรืองอุไร ศรีนิลทา (2535 : 236) ได้กล่าวว่าภาคผนวกเป็นตอนสุดท้ายของรายงานวิจัย ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้แล้วแต่ความจำเป็น หลักการทั่วไปเกี่ยวกับภาคผนวกได้แก่ ภาคผนวกคือที่สำหรับรวบรวมข้อมูลและข้อสนเทศทั้งหลาย ที่ไม่ถึงกับจำเป็นที่จะต้องเสนอไว้ในตัวเรื่อง แต่ก็อาจจะมีความสำคัญในการขยายความสาระสำคัญบางสาระเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น และข้อมูลและข้อสนเทศที่สำคัญมากที่ควรเสนอไว้ในตัวเรื่อง แต่จำนวนรายการของข้อมูลหรือข้อสนเทศชุดนั้นมากเกินไป จึงไม่เหมาะแก่การนำเสนอในตัวเรื่อง

สรุป

ภาคผนวกคือ ส่วนประกอบที่เขียนเพิ่มเติมในตอนท้ายเพื่อช่วยให้เห็นความสมบูรณ์ในข้อมูล เนื้อหา กระบวนการดำเนินงานและผลของการวิจัยภาคผนวกอาจประกอบด้วยแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติที่เกี่ยวข้องอื่นนอกเหนือจากส่วนที่จัดไว้ในเนื้อหา สำเนาเอกสารหายาก
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในวิทยานิพนธ์ นอกจากนี้อาจมีรายละเอียดอื่น ๆ เช่น
  คำอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอน หรือวิธีทำภาพประกอบ การสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทดลองผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นหรือสร้างขึ้นในโครงการวิจัยนั้น ๆ สำหรับกรณีมีภาคผนวกหลายภาค ให้จัดเป็นภาคผนวก ก ภาคผนวก ข และภาคผนวก ค ตามลำดับ และให้ขึ้นหน้าใหม่เมื่อขึ้นภาคผนวกใหม่และพิมพ์หน้าบอกตอนสำหรับภาคผนวกนั้น ๆ ด้วย

ที่มา

พิชิต ฤทธิ์จรูญ.(2544).  ระเบียบวิธีการวิจัยทางสัมคมศาสตร์. กรุงเทพฯ.  ศูนย์หนังสือ
ราชภัฏพระนคร
พรศรี ศรีอัษฎาพร และ  ยุวดี วัฒนานนท์.  (2529).  สถิติและการวิจัยเบื้องต้น. กรุงเทพฯ.  สามเจริญพานิช.
เรืองอุไร ศรีนิลทา. (2535).   ระเบียบวิธีวิจัย. กรุงเทพฯ.  สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม
                มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

21. เอกสารอ้างอิง


สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ (2538 : 441) กล่าวว่า เป็นส่วนที่เสนอรายชื่อบทความ เอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยได้รวบรวม อ่านและใช้ในการวิจัย หากมีเอกสารอ้างอิงทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ควรแยกออกเป็น 2 ส่วน ระบุว่าเอกสารอ้างอิงที่เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ

                วัลลภ ลำพาย (2547 : 178) กล่าวว่า ส่วนนี้เป็นส่วนที่ประกอบด้วยรายการเอกสารต่าง ๆ ที่ได้อ้างอิงไว้ในวิทยานิพนธ์หรือรายงานการวิจัย เอกสารทุกเล่มที่อ้างอิงไว้ในส่วนของเนื้อหาจะต้องปรากฏอยู่ในเอกสารอ้างอิง การจัดลำดับของเอกสารอ้างอิงนั้น จัดลำดับตามตัวอักษรของชื่อผู้แต่ง ซึ่งถ้าเป็นภาษาไทยจะเป็นชื่อต้น แต่ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศจะเป็นชื่อท้าย จัดลำดับเอกสารภาษาไทยก่อนแล้วตามด้วยภาษาต่างประเทศ

                พิชิต ฤทธิ์จรูญ (2544 : 389) กล่าวว่า เป็นรายชื่อเอกสารหนังสือ สิ่งพิมพ์และวัสดุอ้างอิงทั้งหมดที่ผู้วิจัยนำมาใช้ประกอบการเขียน ศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงในงานวิจัยของตน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าการเขียนรายงานการวิจัยเป็นการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยรวบรวมไว้ตอนท้ายของรายงานเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจได้ติดตามศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารเหล่านั้น

สรุป


เอกสารอ้างอิง หมายถึง หนังสือหรือเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการค้นคว้าที่ผู้ทำโครงงานใช้ค้นคว้าหรืออ่านเพื่อศึกษาหาข้อมูลหรือรายละเอียดต่าง ๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์ในการทำโครงงานโดยให้เขียนชื่อหนังสือที่เป็นภาษาไทยให้ครบทุกเล่มก่อน และต่อด้วยหนังสือภาษาอังกฤษ โดยเรียงชื่อผู้แต่งตามอักษรก่อนหลัง

ที่มา 

พิชิต ฤทธิ์จรูญ. (2544). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือราชภัฏพระนคร.
วัลลภ ลำพาย. (2547). เทคนิควิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์.
สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์. (2538). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 9 กรุงเทพฯ :
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.


20. งบประมาณ


             
 สมนึก  เอื้อจิระพงษ์พันธ์ ( 2539 : 201)  ให้ความหมายไว้ คือ งบประมาณ หมายถึงแผนการดำเนินงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรขององค์การใดองค์การหนึ่ง สำหรับระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งในภายหน้า ซึ่งแผนการดำเนินงานนี้อาจจะมีลักษณะเป็นแผนระยะยาว เช่น งบประมาณที่มีระยะเวลา 3 ปี  5 ปี  หรือ 10  ปี  หรืออาจจะเป็นแผนระยะสั้น  เช่น  งบประมาณรายเดือน 3 เดือน  6  เดือน  หรือ 1 ปี 
                กิ่งกนก พิทยานุคุณ (2527: 152) ได้สรุปความหมายของงบประมาณ คือ การจำกัดวงเงินที่จะใช้งบประมาณประจำปี  เป็นการแสดงวัตถุประสงค์ที่ฝ่ายบริหารมีอยู่ในขณะนั้นออกมาเป็นตัวเลข รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงแผนการดำเนินงาน และวิธีการจัดหาเงินมาใช้ในองค์การ ในระหว่างปีด้วย
อรชร  โพธิ (2545 : 157) กล่าวว่างบประมาณ  หมายถึงระบบการวางแผนงานที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขทางการเงินสำหรับการดำเนินธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต   โดยครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์  เป้าหมาย  และนโยบายในการดำเนินงานขององค์การ    การจัดสรรทรัพยากรไปใช้เพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร  และผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงานตามแผนนั้น ๆ
สรุป
   งบประมาณ หมายถึง แผนเบ็ดเสร็จ ซึ่งแสดงออกในรูปตัวเงินแสดงโครงการดำเนินงานทั้งหมดในระยะหนึ่ง รวมถึงการกะประมาณการบริหารกิจกรรม โครงการและค่าใช้จ่าย ตลอดจนทรัพยากรที่จำเป็นในการสนับสนุน การดำเนินงานให้บรรลุตามแผนนี้ย่อมประกอบด้วยการทำงาน 3 ขั้นตอน คือ (1) การจัดเตรียม (2) การอนุมัติและ (3) การบริหาร

ที่มา
กิ่งกนก   พิทยานุคุณ  และคณะ.  (2527).  การบัญชีต้นทุน.   กรุงเทพ :  โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรชร  โพธิสุข และคณะ. (2545).  เอกสารการสอนการบัญชีต้นทุนและการบัญชีเพื่อการจัดการ กรุงเทพ :
          สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สมนึก  เอื้อจิระพงษ์พันธ์.  (2539).  การบัญชีต้นทุน  แนวคิดและการประยุกต์เพื่อการตัดสินใจเชิงการ
          บริหาร.  กรุงเทพ : สยามเตชั่นเนอรี่ ซัพพลายส์

19. การบริหารงานวิจัยและตารางการปฏิบัติงาน (Administration &Time Schedule)


พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว (2545 : 728) ได้กล่าวไว้ว่า  การบริหารจัดการ  เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานการวิจัยให้ประสบความสำเร็จ ประกอบกับสิ่งอำนวยความสะดวก คือ โครงการพื้นฐานต้องพอเพียงซึ่งหมายถึงงบประมาณการวิจัย นักวิจัยหน่วยงานเป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้ระบบการวิจัยดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูง
ภิรมย์ กมลรัตนกุล (2531 : 8) ได้กล่าวไว้ว่า  การบริหารงานวิจัย คือ กิจกรรมที่ทำให้งานวิจัยนั้น สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  โดยมีการวางแผน ดำเนินงานตามแผน และประเมินผลในการเขียนโครงร่างการวิจัย ควรมีผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มแรกจนเสร็จสิ้นโครงการเป็นขั้นตอน ดังนี้
1.             วิเคราะห์ปัญหาและกำหนดวัตถุประสงค์
2.             กำหนดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ เช่น
2.1      ขั้นเตรียมการ
ติดต่อเพื่อขออนุมัติดำเนินการ
ติดต่อผู้นำชุมชน
การเตรียมชุมชน
การคัดเลือกผู้ช่วยนักวิจัย
การเตรียมเครื่องมือที่จะใช้ในการสำรวจ
การอบรมผู้ช่วยนักวิจัย
การทดสอบเครื่องมือในการสำรวจ
การแก้ไขเครื่องมือในการสำรวจ
2.2 ขั้นปฏิบัติงาน
ขั้นการวิเคราะห์ข้อมูล
ขั้นการเขียนรายงาน
3. ทรัพยากรที่ต้องการของแต่ละกิจกรรมรวมทั้งเวลาที่ใช้
4. การดำเนินงาน ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การจัดสรรงบประมาณ และการรวบรวมข้อมูลสำหรับการบริหารงานบุคคล จำเป็นต้องดำเนินการวางแผนกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับ
ก. การจัดองค์กร เช่น การกำหนดหน้าที่ของคณะผู้ร่วมวิจัยแต่ละคนให้ชัดเจน การประสานงาน การสรรหาและการพัฒนาบุคคลากร เป็นต้น
ข. การสั่งงาน ได้แก่ การมองหมายงาน การควบคุม เป็นต้น
ค. การควบคุมการจัดองค์กร นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินงานเพื่อใช้ในการสั่งการ และควบคุมคุณภาพของงานโดยอาจทำเป็น แผนภูมิการสั่งการเพื่อวางโครงสร้างของทีมงานวิจัย กำหนดขอบเขตหน้าที่ตลอดจนติดตามประเมินผลให้บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือทำเป็นแผนภูมิเคลื่อนที่
ง. การควบคุมโครงการ เช่น ทำเป็นตารางปฏิบัติงานซึ่งเป็นตารางกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานของแต่ละกิจกรรมเพื่อช่วยให้การควบคุมเวลาและแรงงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และอาจ ช่วยกระตุ้นให้ผู้วิจัยทำเสร็จทันเวลา ตารางปฏิบัติงานจะดูความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมที่จะปฏิบัติและระยะเวลาของแต่ละกิจกรรม โดยแนวนอนจะเป็นระยะเวลาที่ใช้ของแต่ละกิจกรรม ส่วนแนวตั้งจะเป็น กิจกรรมต่าง ๆที่ได้กำหนดไว้ จากนั้นจึงใช้แผนภูมิแท่งในการแสดงความสัมพันธ์นี้
จ. การนิเทศงาน ได้แก่ การแนะนำ ดูแล แก้ไขซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมงานให้มีประสิทธิภาพนั่นเอง
เสนาะ ติเยาว์ (2544 : 1)  ได้ให้ความหมายของการบริหารงานวิจัย คือ กระบวนการทำงานกับคนและโดยอาศัยคน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแยกตามสาระของความหมายนี้ได้ 5 ลักษณะ คือ
1. การบริหารเป็นการทำงานกับคนและโดยอาศัยคน
2. การบริหารทำให้งานบรรลุเป้าหมายขององค์การ
3. การบริหารเป็นความสมดุลระหว่างประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
4. การบริหารเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและการบริหารจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
5. การบริหารที่จะประสบผลสำเร็จจะต้องสามารถคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง
  
สรุป
การบริหารงานวิจัย คือ กิจกรรมที่ทำให้งานวิจัยนั้น สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยมีการวางแผน (planning) ดำเนินงานตามแผน (implementation) และประเมินผล (evaluation)
ในการเขียนโครงร่างการวิจัย ควรมีผลการดำเนินงาน ตั้งแต่เริ่มแรก จนเสริจสิ้นโครงการ เป็นขั้นตอน ดังนี้
1. วิเคราะห์ปัญหาและกำหนดวัตถุประสงค์ 
2. กำหนดกิจกรรม (activities) ต่าง ๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้
3. ทรัพยากร (resources) ที่ต้องการ ของแต่ละกิจกรรม รวมทั้งเวลาที่ใช้ ในแต่ละขั้นตอน ทรัพยากรเหล่านั้น ที่มีอยู่แล้ว มีอะไรบ้าง และมีอะไร ที่ต้องการเสนอขอ จำนวนเท่าใด
4. การดำเนินงาน (Implementation) ต้องตัดสินใจ เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การจัดสรรงบประมาณ และการรวบรวมข้อมูลสำหรับการบริหารงานบุคคล จำเป็นต้องดำเนินการวางแผนกิจกรรมต่าง ๆ

ที่มา
เสนาะ ติเยาว์.  (2544).   หลักการบริหารพิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว.  (2545).   ศาสตร์แห่งการวิจัยทางการเมืองและสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพมหานคร : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย.
ภิรมย์ กมลรัตนกุล.  (2542).   หลักเบื้องต้นในการทำวิจัยกรุงเทพมหานคร : เท็กซ์แอนด์เจอร์นัลพับลิเคชั่น จำกัด



18. อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการวิจัยและมาตรการในการแก้ไข


สุวัฒนา สุวรรณเขตนิคม (2538:6) กล่าวว่า อุปสรรคในการวิจัยที่สำคัญ สรุปได้ ดังนี้
1) ขาดนักวิจัยที่มีคุณภาพ นักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นกำลังหลัก 16,351 - 19,115 คน
สามารถผลิตผลงานวิจัยในเกณฑ์ดี ดีมาก และดีเด่นได้เพียงร้อยละ 5.6 , 0.6 และ 0.1 เท่านั้น
2) ผู้บริหารขาดความสามารถในการบริหารจัดการและไม่เห็นความสำคัญของการวิจัย
3) มีแหล่งเงินทุนเพื่อการวิจัยน้อย
4) นักวิจัยมีภาระงานอื่นที่ต้องปฏิบัติมากทำให้ไม่มีเวลาสำหรับทำวิจัย
5) ขาดผู้ช่วยงาน ทรัพยากรสนับสนุนการวิจัย และมีปัญหาขาดความร่วมมือในการวิจัย
 แนวทางการแก้ไข
1) กำหนดนโยบาย ทิศทาง เป้าหมายหลัก และแผนงานวิจัยระดับชาติที่ชัดเจนและเป็นเอกภาพ
2) สนับสนุนองค์กรจัดสรรทุนอย่างจริงจังให้มีความเป็นอิสระ มีความหลากหลายในทางปฏิบัติ เพื่อให้การจัดสรรทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิผลของงานวิจัยที่มีคุณภาพ
3) ต้องมีมาตรการการสร้างนักวิจัยที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับงานวิจัยของชาติ
4) ระดมทุนและทรัพยากรทั้งภาครัฐและเอกชน มีมาตรการจัดสรรทุนและทรัพยากรที่ดี เพื่อให้ผลิตผลงานวิจัยที่ได้คุณภาพ
5) มีมาตรการสร้างความเข้มแข็งให้แก่หน่วยงานวิจัยเฉพาะทาง
                ภิรมย์ กมลรัตนกุล(2531:8)กล่าวว่า การทำวิจัย ต้องพยายามหลีกเลี่ยงอคติ และความคลาดเคลื่อน ที่อาจจะเกิดขึ้น จากการวิจัยนั้น ให้มากที่สุด เพื่อให้ผลการวิจัย ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยใช้รูปแบบการวิจัย, ระเบียบวิธีวิจัย และสถิติที่เหมาะสม แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆ เกิดขึ้น ดังนั้น การคำนึงเฉพาะ ความถูกต้องอย่างเดียว อาจไม่สามารถ ทำการวิจัยได้
แนวทางการแก้ไข
นักวิจัย อาจจำเป็นต้องมี การปรับแผนบางอย่าง เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ผู้วิจัย ต้องตระหนัก หรือรู้ถึงขีดข้อจำกัด ดังกล่าวนั้น และมีการระบุ ไว้ในโครงร่าง การวิจัยด้วย ไม่ใช่แกล้งทำเป็นว่า ไม่มีข้อจำกัดเลย จากนั้น จึงคิดหามาตรการ อย่าให้ "ความเป็นไปได้" มาทำลาย ความถูกต้อง เสียหมด เพราะจะส่งผลให้ งานวิจัยเชื่อถือไม่ได้
สุวิมล ว่องวาณิช .(2538:91) กล่าวว่า ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการวิจัยปฏิบัติการไว้หลายประการ อาทิเช่น ปัญหาการเลือกวิธีการที่ใช้ในการวิจัยระหว่างเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทักษะในการทำวิจัยของครู วิธีการที่การพัฒนาความสามารถในการทำวิจัยของครู การอ้างอิงผลสรุปจากการวิจัย ความตรงของการวิจัยซึ่งดำเนินการโดยครูอาจไม่มีประสบการณ์เพียงพอในการทำวิจัย และจรรยาบรรณของการทำวิจัยกับนักเรียน
                แนวทางการแก้ไข
อ่านและศึกษาการวิจัยหลายๆตัวอย่างหรืออาจจะศึกษาโดยกรณีตัวอย่างที่เป็นห้องเรียน หรือนักเรียน อาจเปรียบเทียบชั้นเรียนในปีนี้กับชั้นเรียนปีที่แล้ว

สรุป
 อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการวิจัยและมาตรการในการแก้ไข คือ การทำวิจัย ต้องพยายามหลักเลี่ยงอคติ และความคลาดเคลื่อน ที่อาจจะเกิดขึ้น จากการวิจัยนั้น ให้มากที่สุด เพื่อให้ผลการวิจัย ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยใช้รูปแบบการวิจัย, ระเบียบวิธีวิจัย และสถิติที่หมาะสม แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆ เกิดขึ้น ดังนั้น การคำนึงเฉพาะ ความถูกต้องอย่างเดียว อาจไม่สามารถ ทำการวิจัยได้ กรณีดังกล่าว นักวิจัย อาจจำเป็นต้องมี การปรับแผนบางอย่าง เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ผู้วิจัย ต้องตระหนัก หรือรู้ถึงขีดข้อจำกัด ดังกล่าวนั้น และมีการระบุ ไว้ในโครงร่าง การวิจัยด้วย ไม่ใช่แกล้งทำเป็นว่า ไม่มีข้อจำกัดเลย จากนั้น จึงคิดหามาตรการในการแก้ไข อุปสรรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อย่าให้ "ความเป็นไปได้" (feasibility) มาทำลาย ความถูกต้อง เสียหมด เพราะจะส่งผลให้ งานวิจัยเชื่อถือไม่ได้ 

ที่มา

สุวัฒนา สุวรรณเขตนิคม.(2538).หลักการ แนวคิดและรูปแบบเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน.
เส้นทางสู้การวิจัยในชั้นเรียน.กรุงเทพมหานคร: บพิธการพิมพ์.
ภิรมย์ กมลรัตนกุล.  (2531). หลักเบื้องต้นในการทำวิจัย .กรุงเทพมหานคร :  หอสมุดกลาง.
สุวิมล ว่องวาณิช.  (2544).การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนกรุงเทพมหานคร:อักษรไทย.

17. ผลหรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย


พจน์ สะเพียรชัย (2516: 33) กล่าวว่า ประโยชน์ที่จะนำไปใช้ได้จริง ในด้านวิชาการ เช่น จะเป็นการค้นพบทฤษฎีใหม่ซึ่งสนับสนุนหรือ คัดค้านทฤษฎีเดิม และประโยชน์ในเชิงประยุกต์ เช่น นำไปวางแผนและกำหนดนโยบายต่างๆ หรือประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อหาแนวทางพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นต้น โดยครอบคลุมทั้ง ผลในระยะสั้น และระยะยาว ทั้งผลทางตรง และทางอ้อม และควรระบุในรายละเอียดว่า ผลดังกล่าว จะตกกับใคร เป็นสำคัญ

                บุญชม ศรีสะอาด (2546 : 169) กล่าวว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับเป็นส่วนที่ระบุถึงว่าผลการวิจัยเรื่องนี้จะให้ประโยชน์แก่ใครอย่างไร

                รวีวรรณ ชินะตระกลู (2540 : 79) กล่าวว่า การทำวิจัยแต่ละเรื่องจะต้องทราบว่าเมื่อทำการเสร็จแล้ว จะนำผลการวิจัยที่ได้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งการใช้ประโยชน์ของงานวิจัยนั้นอาจใช้ได้ในหลายลักษณะ เช่น บางหน่วยงานอาจนำไปใช้ในการจักทำนโยบาย หรือผู้วิจัยอาจนำไปใช้การปรับปรุงการเรียนการสอน หรือเป็นแนวทางในการตัดสินใจ การแก้ปัญหา หรือทำข้อเสนอแนะ

สรุป
 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย เป็นความสำคัญของการวิจัยที่ผู้วิจัยพิจารณาว่าการวิจัยเรื่องนั้นทำให้ทราบผลการวิจัยเรื่องอะไร และผลการวิจัยนั้นมีประโยชน์ต่อใคร อย่างไร หลักในการเขียนมีดังนี้
1. ระบุประโยชน์ที่อาจเกิดจากผลที่ได้จากการวิจัย
2. สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และอยู่ในขอบเขตของการวิจัยที่ได้ศึกษา
3. ในกรณีที่ระบุประโยชน์มากกว่า 1 ประการ ควรระบุเป็นข้อ
4. เขียนด้วยข้อความสั้น กะทัดรัด ชัดจน
5. การระบุนั้นผู้วิจัยต้องตระหนักว่ามีความเป็นไปได้

ที่มา
พจน์ สะเพียรชัย. (2516).   หลักเบื้องต้นสำหรับการวิจัยทางการศึกษา เล่ม 1. กรุงเทพฯ:
                วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร.
บุญชม ศรีสะอาด.  (2546).   การวิจัยสำหรับครู. กรุงเทพฯ: ชมรมเด็ก.
รวีวรรณ ชินะตระกลู. (2540). วิจัยทางการศึกษา.กรุงเทพ: ภาพพิมพ์.




16. ข้อจำกัดในการวิจัย (Limitation of the study)


จำเรียง  กูรมะสุวรรณ (2529:162) กล่าวว่า ในการทำวิจัยถึงแม้ว่าจะมีการวางแผนอย่างดีแล้วก็ตาม ความคลาดเคลื่อน (error) ที่เกิดขึ้นเองจากลักษณะของกลุ่มตัวอย่างหรือจากตัวแปรภายนอก ฯลฯ ซึ่งผู้วิจัยไม่สามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้และสิ่งนั้นมีผลต่อข้อมูลที่เก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ผลการวิจัยไม่สมบูรณ์ เกิดความบกพร่อง จึงควรจะกล่าวไว้ให้ผู้อ่านได้ทราบพร้อมทั้งเหตุผลทั้งนี้เพื่อที่ผู้จะนำผลการวิจัยไปใช้ จะได้พิจารณาความจำกัดของการวิจัยเรื่องนั้นๆ ด้วย
               นิรันดร์   จุลทรัพย์ (2552:293) กล่าวว่า ข้อจำกัดของการวิจัยเป็นการแจ้งให้ผู้อ่านรายงานการวิจัยได้ทราบว่าในการศึกษาวิจัยนี้มีอุปสรรคและข้อจำกัดอะไรบ้างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
                มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บัณฑิตศึกษา สาขาวิชา คหกรรมศาสตร์ (2545:222) กล่าวว่า ข้อจำกัดของการวิจัยเป็นการเขียนอธิบายว่าการวิจัยนี้มีข้อจำกัดอะไรที่ทำให้การศึกษาอาจไม่สมบูรณ์ได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความรู้ของผู้วิจัยที่มีเกี่ยวกับหัวเรื่องที่ต้องการจะทำการศึกษา

สรุป

การระบุข้อจำกัดของการวิจัยแสดงให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์ของการวิจัย ซึ่งในหัวข้อนี้อาจไม่เขียนลงไปในงานวิจัยก็ได้   หากว่าผู้วิจัยได้มีการออกแบบการวิจัยเป้นอย่างดี  ข้อจำกัดนี้โดยปกติมักพบระหว่างทำการวิจัยหรือทำวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว  โดยปกติในการนำเสนอเค้าโครงการวิจัย ( proposal ) จะไม่ระบุข้อจำกัดในการวิจัย  ข้อจำกัดบางอย่างในทางการวิจัยไม่สามารถรับได้  เพราะทำให้ข้อมูลในการวิจัยไม่ค่อยน่าเชื่อถือ  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่างานวิจัยนั้นจะไม่น่าเชื่อถือ


ที่มา
จำเรียง  กูรมะสุวรรณ.  (2552).  สถิติและการวิจัยเบื้องต้น.(พิมพ์ครั้งที่1)กรุงเทพฯ:สามเจริญพานิช.
นิรันดร์  จุลทรัพย์.  (2552).  การวิจัยทางจิตวิทยาการแนะแนว.(พิมพ์ครั้งที่2):นำศิลป์โฆษณา.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บัณฑิตศึกษา สาขาวิชา คหกรรมศาสตร์.  (2552).  สถิติและการวิจัยทาง
สังคมศาสตร์.(พิมพ์ครั้งที่1)นนทบุรี:มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.