วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

5. วัตถุประสงค์ของการวิจัย


5. วัตถุประสงค์ของการวิจัย

                    พวงรัตน์ ทวีรัตน์ (2538 : 6) กล่าวว่า
1.             เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้หรือทฤษฎี เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็นและอยากรู้เหตุผลของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำการวิจัยเพื่อหาคำตอบ ทำให้เข้าใจและมีความรู้ใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มพูนวิทยาการให้กว้างขวางลึกซึ้ง
2.             เพื่อแก้ไขปัญหา ในการดำรงชีวิตของมนุษย์มักมีปัญหาหรือเหตุขัดข้องขึ้นอยู่เสมอ เช่น ปัญหาในการทำงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการจราจร เป็นต้น มนุษย์จึงต้องทำการวิจัยเพื่อศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหา
3.             เพื่อทดสอบหรือตรวจสอบข้อเท็จจริง ความรู้และทฤษฎีที่ได้มา เนื่องจากข้อเท็จจริงหรือความรู้มีการเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา และสถานการณ์ที่แตกต่างกัน จึงควรมีการทดสอบว่าความรู้หรือทฤษฎีเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหรือไม่
                  ภัทรา นิคมานนท์ (2542 : 6) กล่าวว่า
1.             เพื่อบรรยาย หรือพรรณนาข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการทำวิจัยที่เริ่มจากความไม่รู้ ผู้วิจัยจึงมุ่งทีจะค้นหาความรู้หรือรายละเอียดของข้อสงสัยนั้น ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร มีข้อเท็จจริงอะไรบ้าง เช่น การศึกษาลักษณะประชากรของกรุงเทพมหานคร การศึกษาบริบทชุมชน ซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยทราบข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบัน
2.             เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการทำวิจัยเพื่ออธิบายว่าปรากฏการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เช่น สภาวะโลกร้อน ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เป็นต้น
3.             เพื่อทำนายหรือพยากรณ์ ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น เป็นการทำวิจัยที่ต้องการบรรยายหรืออธิบายสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยอาศัยความรู้หรือข้อมูลที่ได้จากการวิจัยในอดีตและหรือปัจจุบันมาเป็นแนวทางในการคาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเกิดผลอะไร อย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการทำงานในอนาคต
                  บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ (2546 : 7) กล่าวว่า
1.             เนื้อหาเชิงบรรยาย การเขียนเนื้อหาวัตถุประสงค์ในลักษณะนี้จะบอกประเด็นปัญหาการวิจัยว่าเป็นอย่างไร หรือมีมากน้อยเพียงใด
2.             เนื้อหาของวัตถุประสงค์เชิงเปรียบเทียบ การเขียนเนื้อหาวัตถุประสงค์ในลักษณะนี้จะบอกประเด็นของการเปรียบเทียบ เช่น เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการเปิดรับสื่อโทรทัศน์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอื่น ๆ
3.             เนื้อหาของวัตถุประสงค์เชิงสัมพันธ์ การเขียนเนื้อหาวัตถุประสงค์ในลักษณะนี้จะบอกความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันของตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ซึ่งมีคำที่เกี่ยวข้องหลายคำ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อปัจจัยที่ทำให้เกิดผลต่อ เป็นต้น
                   สรุป
ในโครงร่างการวิจัย ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ ให้ชัดเจน และเฉพาะเจาะจง ไม่คลุมเครือ โดยบ่งชี้ถึง สิ่งที่จะทำ ทั้งของเขต และคำตอบที่คาดว่าจะได้รับ อันเป็นสิ่งซึ่งผู้วิจัยมุ่งหวัง ที่จะทำให้การวิจัยนั้น บรรลุทั้งในระยะสั้น และระยะยาว การตั้งวัตถุประสงค์ ต้องให้สมเหตุสมผล กับทรัพยากรที่เสนอขอ และเวลาที่จะใช้

ที่มา
บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์. (2546). คู่มือการวิจัย การเขียนรายงาน การวิจัยและวิทยานิพนธ์. พิมพ์ครั้งที่ 7.
กรุงเทพฯ : จามจุรีโปรดักท์.
พวงรัตน์ ทวีรัตน์. (2538). การวิจัยทางพฤติกรรมและสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภัทรา นิคมานนท์. (2542). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย. กรุงเทพฯ : อักษราพิพัฒน์. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น